ข้าวเสาไห้

 


ชื่อที่จริงของข้าวเสาไห้ คือ ข้าวพันธุ์ “เจ็กเชย” โดยเมื่อประมาณ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าข้าวชาวจีนชื่อ “เจ็กเชย” ล่องเรือค้าข้าวระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง ได้ไปพบข้าวพันธุ์นี้ที่อำเภอสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เห็นว่าเป็นข้าวที่มีลักษณะดีกินอร่อย ได้นำเมล็ดข้าวพันธุ์นี้มาให้ชาวนาในอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีทดลองปลูกดู ปรากฎว่าข้าวพันธุ์นี้มีความเหมาะสมสามารถเติบโตได้ดีในเขตอำเภอเสาไห้ ตลอดจนเจ้าของโรงสีต่าง ๆ ชอบและรับซื้อในราคาสูง เมื่อสีเป็นข้าวสารขายก็มีคนนิยมบริโภคกันมาก ตลาดข้าวเสาไห้จึงได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง

ลักษณะดีและไม่ดีของข้าวพันธุ์เสาไห้

๑)  ลักษณะดี

มีเปลือกบาง จมูกเล็ก เมล็ดยาว สีเป็นข้าว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้ น้ำหนักเมล็ดี เมล็ดมีความเลื่อมมัน หุงขึ้นหม้อ ไม่แฉะ (ต้องหุงแบบเช็ดน้ำ)บูดเสียยาก

๒)  ลักษณะไม่ดี

๑.  ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เกษตรกรและเจ้าของโรงสีผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่าข้าวพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตสูงสุดไม่เกินไร่ละ ๖๐ ถัง โดยเฉลี่ยประมาณไร่ละ ๕๐ ถัง

๒.  ในช่วงออกดอกและเก็บเกี่ยว ปีไหนมีน้ำค้างมากจะทำให้ผลผลิตต่ำข้าวลีบมาก คุณภาพเมล็ดไม่ดี

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยข้าวกรมวิชาการเกษตร

ข้าวพันธุ์เจ็กเชย จัดเป็นข้าวขึ้นน้ำ ปลูกในสภาพที่ลุ่มได้ดี เป็นชนิดข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี อายุการเก็บเกี่ยว ๙ ธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ ๓๕๖ กิโลกรัม ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว ๗.๒ มิลลิเมตร กว้าง ๒.๔ มิลลิเมตร หนา ๑.๘ มิลลิเมตร ไม่ต้านทานโรคใบสีส้ม โรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ปานกลาง